วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ไขปัญหาข้อข้องใจแก๊สโซฮอล์



ปัญหาและข้อข้องใจเกี่ยวน้ำมันแก๊สโซฮอล์

      ตามที่มีข้อสงสัยกรณี"น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีผลกระทบต่อถังน้ำมันและท่อทางเดิน น้ำมันของรถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปี 1995 ขึ้นไป" นั้น บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ปตท. ได้มุ่งมั่นทุ่มเทการดำเนินงานเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค เสมอมา ภายใต้การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายแรกของประเทศที่ จำหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว รวมถึงการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ดี มีคุณภาพเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ผ่านสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ซึ่งเป็นสถาบันที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาตเอเชีย ใคร่ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องโดยขอสรุปสาระสำคัญผ่านข้อสงสัยดังนี้

ข้อสงสัยที่ 1 :  รถยนต์ในประเทศไทยที่ผลิตตั้งแต่ปี 1995 ขึ้นไป วัสดุน้ำมันและท่อทางเดินน้ำมันจากถังน้ำมันเข้าสู่เครื่องยนต์ จะทำจากยางหรือพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันไร้สารตะกั่วทำปฏิกิริยากับถังน้ำมันเหล็กของรถยนต์ รุ่นเก่ากว่าปี 1994 ลงไป ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมารณรงค์ให้ใช้ "น้ำมันแก๊สโซฮอล์" หรือ E10 ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอล 10% และนำมันเบนซิน 91 อยู่ 90% เอทานอล 10% ที่ว่านี้จะทำปฏิกิริยากับถังน้ำมันรถยนต์และท่อทางเดินน้ำมัน ซึ่งรถยนต์ที่ผลิตจากวัสดุที่ทำจากยางหรือพลาสติกชนิดพิเศษดังกล่าว จะเกิดการกัดกร่อนกลายเป็นตะกอนสะสมในถังน้ำมัน

คำตอบที่ 1 :  ในทุกประเทศที่มีการยกเลิกสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินจำเป็นต้องใช้สารเพิ่มค่าออกเทนชนิดอื่นมาทดแทน ซึ่งสารที่สามารถนำมาทดแทน ซึ่งสารที่สามารถนำมาใช้ได้และไม่มีผลกระทบกับสมรรถนะของรถยนต์คือสาร MTBE และEthanol (เอทานอล) ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จึงได้มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ในระบบฉีดเชื้อเพลิง ตั้งแต่ถังน้ำมัน ปั๊มน้ำมัน ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง ท่อทางเดินน้ำมัน จนถึงหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้มีคุณสมบัติที่สามารถทนต่อสาร MTBE และEthanol ได้ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จึงได้ให้ความมั่นใจว่า รถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา สามารถใช้ได้กับน้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอลได้ ทั้งนี้สามารถตรวจสอบยี่ห้อ รุ่นรถได้ที่เว็บไซต์ของ ปตท. www.pttplc.com อย่างไรก็ตาม รถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1995 บางรุ่นอาจใช้น้ำมันแก็สโซฮอล์ได้ โดยผู้ใช้สามารถสอบถามโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์

ข้อสงสัยที่ 2 :  การใช้แก๊สโซฮอล์จะไปทำปฏิกิริยากับถังน้ำมันรถยนต์และท่อทางเดินน้ำมันรถยนต์ที่ผลิตจากวัสดุที่ทำจากยาง หรือพลาสติกชนิดพิเศษดังกล่าว ทำให้เกิดการกัดกร่อน กลายเป็นตะกอนสะสมในถังน้ำมันไปเรื่อยๆ ทีละน้อย ปั๊มน้ำมันไฟฟ้าจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดูดน้ำมันเข้าไปเผาไหม้ในห้องเครื่องยนต์ ทำให้อายุการใช้งานของปั๊มน้ำมันไฟฟ้าสั้นลงอย่างรวดเร็ว และทำให้ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงหรือกรองเบนซินอุดตันเร็วกว่าปกติ

คำตอบที่ 2 :  เนื่องจากวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในระบบฉีดเชื้อเพลิงของรถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปี 1995 และผู้ผลิตได้ให้คำแนะนำว่าสามารถใช้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้นั้น ได้ถูกออกแบบมาและมีการทดสอบแล้วว่าสามารถทนต่อ MTBE และ Ethanol ได้ ดังนั้นจึงไม่มีการละลายของยางหรือเกิดการกัดกร่อนของยาง หรือ พลาสติกใด ๆจนเป็นสาเหตุให้เกิดตะกอนสะสมในถังน้ำมันอย่างที่เข้าใจกันสำหรับกรณีที่สงสัยว่า ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์แล้วทำให้ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงหรือกรอง เบนซินอุดตันเร็วนั้น “ไม่เป็นความจริง” เพราะการที่จะเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ลักษณะการใช้งานของรถยนต์, อายุการใช้งานของไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง คุณภาพของไส้กรองเป็นต้น หากรถยนต์บางคันมีการสะสมของคราบสิ่งสกปรกในระบบเชื้อเพลิง อยู่แล้ว เมื่อเปลี่ยนมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีในด้านการทำความสะอาดจึงอาจไปชะล้างคราบสิ่งสกปรกออกมาในครั้งแรกของการใช้เท่านั้น

ข้อสงสัยที่ 3 :  ห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์จะมีตะกอนของยางและพลาสติกชนิดพิเศษไปเกาะตามบ่าวาล์ว ลูกสูบ แหวนลูกสูบ หากมีปริมาณไม่มาก ก็จะทำให้แหวนลูกสูบสึกหรอไปทีละน้อย แต่หากมีปริมาณมากๆแล้วแหวนลูกสูบจะบิ่นทำให้เครื่องยนต์เริ่มมีปัญหาเนื่องจากแหวนลูกสูบไม่สามารถกวาดน้ำมันเครื่องลงก้นอ่างได้หมดทำให้รถยนต์คันนั้นมีปัญหาการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ สะสมทีละน้อยๆ เครื่องก็จะค่อยๆ หลวมไปทีละนิด

คำตอบข้อที่ 3 :  ปตท. โดย สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ได้วิจัยทดสอบการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์กับรถยนต์ทั้งที่ผลิตตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา และรถรุ่นเก่าที่ใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบคาร์บูเรเตอร์ ที่ระยะทาง 100,000 กิโลเมตร โดยวัดมลพิษไอเสียและทดสอบสมรรถนะเครื่องยนต์ทั้งตลอดช่วงเวลาการใช้งานและหลังการใช้งานโดยการถอดเครื่องยนต์เพื่อประเมินความสกปรกที่เกิดขึ้นที่ลิ้นไอดี ห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ รวมทั้งความสึกหรอตามชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ลูกสูบ แหวนลูกสูบ กระบอกสูบ แบริ่งส่วนต่างๆ วัดอัตราการฉีดเชื้อเพลิงของหัวฉีด และตามชิ้นส่วนต่างๆ ของคาร์บูเรเตอร์ ผลการประเมินชิ้นส่วนทั้งหมดพบว่า ระดับของการสึกหรออยู่ในระดับปกติ ไม่แตกต่างจากการใช้เชื้อเพลิงเบนซินทั่วไป ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการใช้ “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” ไม่ได้มีผลกระทบต่อการสึกหรอของเครื่องยนต์ที่ผิดปกติไปกว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงธรรมดาแต่อย่างใด

ข้อสงสัยที่ 4 :  คาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ หรือตัวกรองไอเสียของรถยนต์ในปัจจุบันไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานกับเชื้อเพลิงชนิดเอทานอลเบลนด์ การใช้งานเชื้อเพลิงชนิดอื่นนอกจาก RON (น้ำมันไร้สารตะกั่ว) ย่อมทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์ชนิดนี้ลดลงกว่าที่ควรจะเป็น (คาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์อายุใช้งานเฉลี่ยประมาณ 10 ปี)

คำตอบข้อที่ 4 :  โดยปกติ คาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ หรืออุปกรณ์กรองมลพิษไอเสีย จะเสื่อมสภาพหรือมีอายุการใช้งานที่สั้นลง เมื่อสัมผัสกับโลหะหนักที่อยู่ในไอเสีย เช่น สารตะกั่ว กำมะถัน ซึ่งน้ำมันแก๊สโซฮอล์ไม่ได้มีโลหะหนักผสมอยู่ จึงไม่ได้มีผลต่ออายุการใช้งานคาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ทั้งนี้ การเสื่อมสภาพของอุปกรณ์กรองมลพิษไอเสีย มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่

  4.1 เสื่อมสภาพจากการใช้งานตามปกติ ซึ่งปกติอายุของอุปกรณ์กรองไอเสียนี้จะมีอายุประมาณ 1- 2 แสนกิโลเมตร ตามระดับเทคโนโลยีการผลิต

  4.2 ความเสียหายที่เกิดจากการใช้งานไม่เหมาะสม เช่น ติดตั้งอุปกรณ์เข้าใกล้เครื่องยนต์มากเกินไป
การใช้งานที่อุณหภูมิของไอเสียสูงมากเป็นระยะเวลานาน หรือ การอุปกรณ์กรองไอเสียถูกกระแทกอย่างแรง

ข้อสงสัยที่ 5 :  น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10ที่ใช้กันในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตเอทานอลในประเทศไทยแต่ละรายยังไม่สามารถส่งมอบเอทานอลได้มาตรฐานตามข้อกำหนด ทำให้คุณภาพของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในปัจจุบันยังไม่นิ่งและแปรเปลี่ยนไปตามวัตถุดิบของแต่ละโรงงานผลิต ส่งผลให้การผสมน้ำมันเบนซินไม่ได้สัดส่วนที่แน่นอนอย่างที่ควรจะเป็นเนื่องจากมีบางโรงงานลดคุณภาพของเอทานอลลง เพราะไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายขึ้นจาก 12.75 บาท มาเป็น 14.90 บาทได้ จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลต้องให้ราคาสูงถึง ลิตรละ15.00บาทในช่วง3เดือนที่ผ่านมาเพื่อจูงใจให้โรงงานผลิตเอทานอลเหล่านี้

คำตอบข้อที่ 5 :  ในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ผู้ค้าน้ำมันทุกรายจะต้องจัดหาเอทานอลที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพของเอทานอลที่ใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งไม่ว่าผู้ผลิตเอทานอลจะผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบชนิดใด หรือจะต้องขายเอทานอลด้วยราคาเท่าใดก็ตาม เอทานอลที่จะนำเสนอขายหรือผลิตได้จะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามประกาศข้อกำหนดด้วย มิฉะนั้นผู้ค้าน้ำมันจะไม่สามารถรับซื้อได้ นอกจากนั้น ผู้ค้าน้ำมันจะต้องผสมเอทานอลในอัตราส่วนตามที่กฎหมายกำหนดและควบคุมคุณภาพของแก๊สโซฮอล์ที่ผลิตได้ให้เป็นไปตามประกาศคุณสมบัติของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ปีพ.ศ. 2547ของกรมธุรกิจพลังงาน เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น